top of page
Writer's pictureTPA Admin

มาทบทวนการใช้ "บาร์โค้ด" กันเถอะ



ระบบการจำหน่ายสินค้าขายปลีกแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) ได้มีการขยายตัวอย่างมากทั่วประเทศและทั่วโลก

ในซูเปอร์มาร์เกตมาตรฐานทั่วไปจะมีสินค้าวางขายประมาณ 30,000 รายการ ถ้าเป็นซูเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่หรือ

ที่เรียกว่าไฮเปอร์มาร์เกต จะมีสินค้าวางขายมากถึงประมาณ 40,000 รายการ การนำเทคโนโลยีข้อมูลมาใช้ในการค้าปลีกเพื่อ

อำนวยความสะดวกในการสั่งซื้อ จัดเก็บ ตรวจสอบสต็อก และชำระราคาสินค้าจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง บาร์โค้ดเป็นเทคโนโลยี

อย่างหนึ่งที่เริ่มมีการใช้ในเชิงการค้าในบ้านเรามาประมาณ 20 ปีมาแล้ว แม้ว่าในปัจจุบันการพิมพ์บาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ได้

กลายเป็นสิ่งที่ไม่ใหม่แล้วสำหรับธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้ผลิตสินค้าขนาดเล็กในประเทศจำนวนมากที่ยังขาด

ความรู้ในการใช้บาร์โค้ดอย่างถูกต้อง ส่งผลให้สินค้าไม่สามารถวางจำหน่ายในร้านขายปลีกแบบสมัยใหม่ได้ หรือก่อปัญหา

ในการใช้บาร์โค้ดให้กับร้านค้าปลีก เช่น เครื่องสแกนเนอร์อ่านไม่ได้เนื่องจากแท่งบาร์โค้ดมีขนาดเล็กไปหรือไม่ได้มาตรฐาน

ที่กำหนด แท่งบิดเบี้ยว สีไม่เหมาะสม เป็นต้น ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อทบทวนการใช้บาร์โค้ดกับบรรจุภัณฑ์สินค้า

อุปโภคบริโภค โดยหวังว่าจะมีประโยชน์แก่ผู้ผลิตสินค้ารายใหม่ๆ ของบ้านเรา

ความหมายและระบบของบาร์โค้ด

บาร์โค้ด คือ เลขหมายประจำตัวสินค้า เพื่อบ่งบอกถึงข้อมูลของสินค้า เช่น ราคา รสชาติ น้ำหนักหรือปริมาตรบรรจุ แหล่งผลิต

เลขหมายเฉพาะนี้จะถูกแปลงเป็นรหัสแท่ง ที่สามารถอ่านได้จากเครื่องสแกนอย่างถูกต้อง

ระบบของบาร์โค้ดสากลที่ใช้กันทั่วโลก คือ EAN (The European Article Numbering) ประเทศที่ใช้ระบบนี้ต้องเป็นสมาชิกของ

EAN สำหรับประเทศไทยจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ GS1Thailand ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ตัวเลขของบาร์โค้ดสำหรับบรรจุภัณฑ์เพื่อการขายปลีก จะมี 13 หลัก ดังภาพที่ 1

       885                        1234                            56789                            8

รหัสประเทศ          รหัสโรงงานที่ผลิต                 รหัสสินค้า              ตัวเลขตรวจสอบ

ในกรณีที่บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็ก ไม่สามารถพิมพ์บาร์โค้ดตัวเลข 13 หลักได้ ผู้ผลิต (สมาชิกสามารถติดต่อกับ GS1Thailand

เพื่อขอรหัสสินค้า 4 หลักได้ GS1Thailand ไม่อนุญาตให้ผู้ผลิตสินค้าออกรหัสสินค้าเอง รหัสบาร์โค้ดจึงรวมกันมี 8 หลักเท่านั้น

ดังภาพที่ 2

       885                                  1234                                          1

รหัสประเทศ                       รหัสสินค้า                            ตัวเลขตรวจสอบ

(ที่กำหนดโดย GS1Thailand)

ตัวเลขของบาร์โค้ดสำหรับบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง (Trade Unit) ของสินค้าดังกล่าว จะมี 14 หลัก ดังนี้

1                           885                       1234                     56789                   5

หมายเลข 1 นี้เรียกว่า “Logistical Variant” (LV) ซึ่งจะเป็นเลขใดก็ได้จาก 1-8 แต่แนะนำควรใช้เลข 1

ตัวเลขตรวจสอบจะแตกต่างกันขึ้นกับตัวเลขข้างหน้า เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเลขข้างหน้าถูกต้องหรือไม่ ตัวเลขตรวจสอบได้มาจาก

การคำนวณซึ่งมีสูตรอย่างชัดเจน ผู้ใช้บาร์โค้ด (ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค) สามารถติดต่อให้ผู้ทำฟิล์มมาสเตอร์ (ต้นฉบับเพื่อ

การพิมพ์) คำนวณตัวเลขตรวจสอบให้ได้

การดำเนินการขอบาร์โค้ดเพื่อใช้กับสินค้า

ผู้ผลิตสินค้าที่ต้องการนำบาร์โค้ดมาพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ของตน ต้องติดต่อกับ GS1Thailand เพื่อขอแบบฟอร์มและกรอก

รายละเอียดพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าเป็นสมาชิก และค่าธรรมเนียมประจำปี ผู้ผลิตสินค้าจะได้ตัวเลขของผู้ผลิตจำนวน

4 หลัก แต่ละบริษัทที่ผลิตสินค้าจะมีตัวเลขของผู้ผลิต 1 เลขหมายเท่านั้น การขอเพิ่มตัวเลขจะต้องได้รับการอนุมัติจาก GS1

Thailand โดยต้องเสียค่าสมาชิกรายปีเพิ่มเติม โดยทั่วไปหมายเลขสมาชิกผู้ผลิตจะเรียงลำดับก่อนหลังตามเวลาที่ยื่นขอกับ

GS1Thailand ในกรณีที่ผู้ผลิตต้องการเลขเฉพาะ (แต่ต้องไม่ซ้ำกับเลขของผู้ผลิตรายอื่น) จะต้องเสียค่าเลือกเลขหมายเพิ่มเติม

ซึ่งรายละเอียดโปรดติดต่อ GS1Thailand

การพิมพ์บาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์

จุดมุ่งหมายของบาร์โค้ด คือ เลขหมายประจำตัวสินค้าที่สามารถอ่านได้ด้วยเครื่องสแกนเนอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อ

ให้ข้อมูลต่างๆ อย่างถูกต้อง ดังนั้นขนาดและคุณภาพการพิมพ์ของบาร์โค้ดจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตสินค้าต้องให้ความ

สำคัญ

ขนาดของบาร์โค้ด

บาร์โค้ดของบรรจุภัณฑ์เพื่อการขายปลีก 13 และ 8 หลัก มีขนาดมาตรฐาน (100%) ดังภาพที่ 3 สามารถลดและขยายขนาด

ได้ แนะนำว่าควรอยู่ในช่วง 200% ถึง 80% ขนาดที่เล็กกว่า 80% มักจะไม่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ เพราะสร้างปัญหาในการ

สแกนบาร์โค้ด

ขนาดของบาร์โค้ด 13 หลัก :               เล็กสุด 29.83 มม. x 20.73 มม. (80%)

ใหญ่สุด 74.58 มม. x 51.82 มม. (200%)

ขนาดของบาร์โค้ด 8 หลัก :   เล็กสุด 21.38 มม. x 17.05 มม. (80%)

ใหญ่สุด 53.46 มม. x 42.62 มม. (200%)

บาร์โค้ดของบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง 14 หลัก ขนาดมาตรฐานที่แนะนำ คือ

ใหญ่สุด 142.75 มม. x 32.00 มม. (100%) และ

เล็กสุด 44.725 มม. x 22.30 มม. (25%)

ตำแหน่งของบาร์โค้ดของบรรจุภัณฑ์ขายปลีก

ไม่มีข้อบังคับที่แน่นอน แต่มีหลักการคือ ต้องอยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน หลีกเลี่ยงบริเวณรอยพับ รอยต่อ รอยตะเข็บของ

บรรจุภัณฑ์ บาร์โค้ดต้องมีอยู่ที่เดียวต่อ 1 หน่วยของบรรจุภัณฑ์ ในกรณีของบรรจุภัณฑ์รวมหน่วยที่ผู้ซื้อซื้อทั้งชุด จะต้องปิด

บาร์โค้ดของบรรจุภัณฑ์หน่วยย่อยให้มิด เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการอ่านเครื่องสแกนเนอร์

(รูปภาพก๊อปไม่ได้)

ตำแหน่งของบาร์โค้ดสำหรับบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง

บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งที่นิยมสูงสุด คือ กล่องกระดาษลูกฟูก ตามมาตรฐานสากลจะมีการกำหนดให้พิมพ์บาร์โค้ดไว้ที่มุม

ของด้านล่างกล่องทั้ง 4 ด้านข้าง โดยมีระยะห่างจากขอบกล่องที่แน่นอน ดังภาพที่ 6 ในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ธุรกิจ

การกระจายสินค้าอุปโภคบริโภค จะกำหนดให้พิมพ์บาร์โค้ดที่กล่องกระดาษลูกฟูกที่ด้านฝาบนและฝาล่างด้วย ทั้งนี้เพราะการ

ลำเลียงกล่องสินค้าและการอ่านบาร์โค้ดเป็นระบบอัตโนมัติ ไม่ว่ากล่องสินค้าจะอยู่ในตำแหน่งใดเมื่ออยู่บนสายพานลำเลียง

เครื่องอ่านบาร์โค้ดที่ติดตั้งอยู่กับที่ก็จะอ่านบาร์โค้ดของกล่องนั้นได้เสมอ

(รูปภาพก๊อปไม่ได้)

สีของบาร์โค้ด

หลักการทำงานของเครื่องสแกนเนอร์ ขึ้นกับการอ่านค่าความแตกต่างของสีระหว่างแท่งกับพื้น ดังนั้นสีของสองส่วนต้องมี

ความแตกต่างกันอย่างชัดเจน สีของรหัสที่เหมาะที่สุดสำหรับบรรจุภัณฑ์ขายปลีก คือ แท่งสีดำบนพื้นสีขาว อย่างไรก็ตามเพื่อ

วัตถุประสงค์ในด้านความสวยงาม คู่สีอื่นๆ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน เช่น แท่งสีน้ำเงินบนพื้นขาว แท่งสีน้ำตาลเข้มบนพื้นสีขาว

สำหรับบาร์โค้ดของบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง ถ้าเป็นกล่องกระดาษลูกฟูกสีน้ำตาล แนะนำว่าให้ใช้แท่งสีดำ หรือน้ำเงินเข้ม

เท่านั้น

ผู้ผลิตสินค้าที่ไม่มั่นใจในเรื่องสีที่ใช้และคุณภาพการพิมพ์ว่าสามารถอ่านด้วยเครื่องสแกนเนอร์ได้หรือไม่ ควรซื้อ

เครื่องสแกนเนอร์มาใช้ในการตรวจสอบ หรือสามารถขอบริการตรวจสอบคุณภาพบาร์โค้ดพร้อมใบรับรองผลการอ่านได้จาก

GS1Thailand โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบรายใหม่ซึ่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องการจำหน่ายใน

ร้านค้าแบบทันสมัย ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะการมีบาร์โค้ดกำกับที่บรรจุภัณฑ์ของสินค้าทุกชิ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยง

ไม่ได้ หากผู้อ่านต้องการทราบรายละเอียดในเรื่องนี้ โปรดสอบถาม GS1Thailand ซึ่งอยู่ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

Article

มยุรี ภาคลำเจียก

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์

4,164 views0 comments

Komentar

Dinilai 0 dari 5 bintang.
Belum ada penilaian

Tambahkan penilaian
bottom of page