top of page
Writer's pictureTPA Admin

บรรจุภัณฑ์ขนาดเหมาะสม บันไดก้าวแรกสู่บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน


บรรจุภัณฑ์ขนาดเหมาะสม บันไดก้าวแรกสู่บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน Sustainable Packaging หรือ บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน เป็นแนวโน้มที่โดดเด่นของบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภค หรือบริโภค บทความนี้ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวคิดของผู้เขียนเองที่ตอบสนองต่อแนวโน้มด้านนี้ ซึ่งผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือ ไม่เห็นด้วยก็ได้ก่อนจะพูดถึงความหมายของบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ก็ต้องมาพูดถึงคำว่า Sustainable Development กันก่อน ซึ่งแปลได้ว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” มีความหมายว่า การพัฒนา (ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม) ที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยคำนึงถึงความต้องการของคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต การพัฒนาดังกล่าวประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ (1) โลก หรือ Planet ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (Environment) เพื่อให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกสามารถดำรงชีวิตได้ ดังนั้น จึงต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งดิน น้ำ และอากาศ (2) คน หรือ People ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่อย่างมีคุณภาพของคนในสังคม (Society) (3) กำไร หรือ Profit ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ (Economy) ของกิจการต่างๆ ซึ่งต้องมีผลกำไรที่พอเหมาะ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้

3 องค์ประกอบมักเรียกย่อๆ ว่า 3P (Planet, People, Profit) หรือไม่ก็ ESE (Environment, Society, Economy)

ดังภาพที่ 1 และภาพที่ 2

ในการพัฒนาที่ให้ผลที่ยั่งยืนอย่างยาวนานเท่าที่จะทำได้ต้องมีทั้ง 3 องค์ประกอบนี้เชื่อมโยงกันอย่างสมดุลย์ แต่ไม่จำเป็นต้องเท่าๆ กัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ลักษณะเฉพาะของการพัฒนาและเวลา เป็นต้น บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ควรมีสมบัติและลักษณะเฉพาะ ดังนี้ (1) มีสมบัติตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด เช่น สามารถรักษาสภาพของสินค้าได้ ให้ความสะดวกในการผลิต การลำเลียงขนส่งและการจัดจำหน่าย รวมทั้งการใช้งานโดยผู้บริโภค (2) ไม่ขัดต่อกฎระเบียบของประเทศที่จำหน่ายสินค้านั้น (3) มีความปลอดภัย ไม่ก่อปัญหาด้านสุขภาพแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์นั้น (4) สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางการตลาดได้ ในราคาที่เหมาะสม (5) ผลิตมาจากวัสดุที่รีไซเคิลได้หรือจากทรัพยากรที่สร้างใหม่ได้ (renewable resource) (6) ได้รับการออกแบบทางกายภาพเพื่อการใช้วัสดุและพลังงานอย่างพอเหมาะ (optimized material and energy) ถ้าถามว่า “ทำไมเราต้องทำการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน?” คำตอบคงมีหลากหลาย เช่น ทำตามกระแส ทำตามคู่แข่งถูกบังคับด้วยกฎหมายของประเทศที่จำหน่ายสินค้าของเรา ทำตามนโยบายของบริษัทแม่ ผู้ค้าปลีกหรือผู้นำเข้าสินค้าของเราให้ทำเพื่อเป็นจุดขายทางการตลาด เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ตราสินค้าและบริษัทของเรา เป็นต้น คำตอบเหล่านี้ไม่ผิด แต่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนมีวัตถุประสงค์หลักมากกว่านี้ คือ

• เพื่อลดการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ โดยการใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ และ/หรือการใช้วัสดุที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ซึ่งช่วยลดปริมาณของขยะอันมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เนื่องมาจากประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้น จึงมีการอุปโภคบริโภคและใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้นการใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ไม่ใช่จะสามารถใช้ได้กับบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิด เพราะต้องคำนึงถึงสมบัติของบรรจุภัณฑ์ในการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ภายในเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น การใช้ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว LDPE ทำถุงบรรจุอาหารแห้งที่มีไขมัน ต้องการอายุการวางจำหน่ายนาน 1 ปี แม้ว่า LDPE จะสามารถรีไซเคิลได้แต่จะส่งผลให้อาหารเสื่อมคุณภาพเร็วกว่ากำหนด ดังนั้นการใช้ถุงที่ทำจากฟิล์มพลาสติกหลายชั้น เช่น OPP/Metalized PET/LDPE จึงมีความจำเป็น เพื่อรักษาคุณภาพอาหารประเภทนี้ให้ได้นานตลอดอายุของการวางจำหน่าย แม้ว่าวัสดุนี้จะไม่สามารถริไซเคิลได้ก็ตาม • เพื่อใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ดีพอเหมาะ โดยไม่ก่อผลกระทบในการผลิต การลำเลียงขนส่งและคุณภาพของสินค้า ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายของบรรจุภัณฑ์ได้ เช่น บรรจุภัณฑ์ขายปลีกมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์ขนส่งมีขนาดเล็กลงตามไปด้วยนอกจากนี้ยังอาจทำให้ต้นทุนของการลำเลียงขนส่งลดลงอีกด้วย เพราะสามารถจัดเรียงสินค้าบนพาเลตและในพาหนะขนส่งได้จำนวนมากขึ้นในเรื่องขนาดของบรรจุภัณฑ์ ผู้ประกอบการมักมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดขนาด โดยพิจารณาจาก ก. ปริมาณบรรจุของผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ ข. ลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ที่สัมพันธ์กับการบรรจุ เช่น ผลิตภัณฑ์ของเหลวบางชนิดจะเกิดฟองในขณะบรรจุผลิตภัณฑ์ที่เป็นผงละเอียดและเบาจะเกิดการฟุ้งกระจายในขณะบรรจุ ทำให้ต้องเผื่อช่องว่างในขวดมากกว่าปกติ เพื่อให้สามารถปิดฝาขวดได้โดยผลิตภัณฑ์ไม่ไหลออกหรือไม่ฟุ้งออกมา อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ ขนมขบเคี้ยวที่แตกหักง่าย ถ้าบรรจุในถุงพลาสติกจะมีการเผื่อช่องว่างในถุงไว้สำหรับการอัดก๊าซเพื่อลดการแตกหักของขนมในระหว่างการลำเลียงขนส่ง ค. เครื่องบรรจุ หากเป็นแบบอัตโนมัติและมีความเร็วสูง ต้องมีช่องว่างระหว่างผลิตภัณฑ์กับผนังภายในบรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสม เพื่อให้เครื่องทำงานได้อย่างไม่ติดขัด ง. การเปรียบเทียบกับขนาดบรรจุภัณฑ์ของคู่แข่ง เมื่อสินค้าอยู่ที่ชั้นวางขายในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ขนาดของบรรจุภัณฑ์มักมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่มักจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ามีปริมาณผลิตภัณฑ์มาก เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ผลิตสินค้าซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง จะเป็นผู้นำในด้านขนาดของบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตสินค้ารายอื่นจะเป็นผู้ตามโดยใช้บรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดใกล้เคียงกับของผู้นำ จ. กฎระเบียบในเรื่องขนาดบรรจุภัณฑ์ซึ่งยังไม่มีในประเทศไทยแต่มีในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ได้มีกฎว่า ปริมาตรของช่องว่างภายในบรรจุภัณฑ์ว่าต้องไม่เกิน 25% ของปริมาตรของสิ่งที่บรรจุอยู่ภายใน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการบรรจุมีปริมาตร 100 มล. บรรจุภัณฑ์ปฐมภูมิต้องมีปริมาตรไม่เกิน 125 มล. ถ้าบรรจุภัณฑ์ขายปลีกมี 2 ชิ้น เช่น ยาสีฟันมีหลอดและกล่อง ปริมาตรภายในกล่องต้องไม่เกิน 25% ของปริมาตรของหลอดด้านนอก กฎนี้มีขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและให้ผู้ประกอบการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์อย่างพอเหมาะ มีขนาดไม่ใหญ่เกินไป จากการสำรวจบรรจุภัณฑ์ของสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านค้าในประเทศพบว่า มีสินค้าจำนวนมากที่บรรจุภัณฑ์มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น จึงได้นำภาพมาให้ดู ณ ที่นี้ โดยมิได้มีเจตนาจะตำหนิแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการให้ข้อคิดว่าถ้าผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้สามารถลดขนาดของบรรจุภัณฑ์ลงได้ก็จะช่วยลดการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ ลดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณขยะ และแน่นอนจะช่วยตอบสนองบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี ขนมขบเคี้ยวบรรจุในถุงพลาสติก เช่น ข้าวเกรียบกุ้ง สาหร่ายทอดกรอบ หมูแผ่นอบกรอบ มันฝรั่งทอดกรอบ หอยลายอบกรอบ ฯลฯ

ดังภาพที่ 3 ขนมเหล่านี้แตกหักง่าย จึงมีการอัดก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในถุงจนถุงป่อง นอกจากจะช่วยยืดอายุการเก็บได้แล้ว ยังป้องกันขนมแตกหักได้อีกด้วย ข้อสังเกตคือ ถุงมีขนาดใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับปริมาณขนม หากเปิดถุงออกจะเห็นว่าปริมาณของขนมอยู่ต่ำกว่าระดับครึ่งถุงลงมาแทบทั้งสิ้น ถ้าผู้ผลิตลดขนาดถุงลงคงไม่ทำให้ขนมแตกหักมากกว่าเดิมหากเกรงว่าการลดขนาดถุงจะทำให้สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด เพราะผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าลดปริมาณบรรจุ ขอแนะนำว่าควรมีข้อความที่อ่านได้อย่างชัดเจนพิมพ์ที่ถุงด้านหน้าว่า “ลดขนาดถุงเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม ปริมาณบรรจุเท่าเดิม” โดยอาจใช้เป็นแคมเปญในการส่งเสริมการขายได้ ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ตราสินค้าและบริษัทผู้ผลิตได้

ภาพที่ 3 ตัวอย่างขนมขบเคี้ยวที่บรรจุในถุงพลาสติก มีปริมาณของขนมอยู่ต่ำกว่าระดับครึ่งถุง

สินค้าที่ใช้กล่องกระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์ทุติยภูมิ เช่น น้ำตาลเทียมที่บรรจุในซองกระดาษเคลือบพลาสติก ขนมเปียะ ที่ห่อด้วยพิมพ์ใส ยาหม่องที่บรรจุในตลับโลหะ ครีมทาผิวที่บรรจุในตลับพลาสติก เครื่องดื่มสำเร็จรูปที่บรรจุในซองพลาสติกยาสีฟันที่บรรจุในหลอด ฯลฯ ดังภาพที่ 4 กล่องกระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อการวางขายและช่วยให้สินค้าโดดเด่นขึ้น มีหลายสินค้าที่เปิดกล่องออกจะเห็นช่องว่างในกล่องที่มีมากเกินความจำเป็น ดังภาพที่ 4 ถ้าบรรจุภัณฑ์ปฐมภูมิมีลักษณะนิ่มและบุบง่าย เช่น หลอดยาสีฟัน ช่องว่างนี้จะทำให้ปลายหลอดบุบย่น อันเนื่องจากการกระแทกในระหว่างการลำเลียงขนส่ง (ภาพที่5) ถ้าผู้ผลิตสินค้าสามารถลดขนาดกล่องลงก็จะช่วยลดปริมาณขยะ ลดต้นทุนและสอดคล้องกับบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนปัญหาด้านการตลาดที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากขนาดกล่องเล็กลงก็น่าจะแก้ไขได้ทำนองเดียวกับข้อแนะนำในการลดขนาดของถุงพลาสติกสำหรับขนมขบเคี้ยวที่กล่าวข้างต้น

ภาพที่ 4 ตัวอย่างสินค้าในกล่องกระดาษที่มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น

ภาพที่ 5 กล่องยาสีฟันที่มีช่องว่างในกล่องมากเกินไป ทำให้ปลายหลอดบุบย่นในระหว่างการลำเลียงขนส่ง

ผลิตภัณฑ์ที่บรรจุในขวดหรือถุงหรือหลอดพลาสติกที่ทึบแสง เช่น แชมพูสระผม ครีมนวดผม ครีมอาบน้ำ ครีมล้างมือแป้งฝุ่นโรยตัว เป็นต้น ในอดีตสินค้าเหล่านี้มีขนาดบรรจุที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกตราสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบราคาได้ง่าย แต่กฎระเบียบนี้ได้ยกเลิกไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อสอดคล้องกันกับระบบการค้าเสรี ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตสินค้าจึงมีการปรับลดปริมาณบรรจุสินค้าตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและเพื่อการแข่งขันด้านราคา โดยมักใช้ขวดหรือถุงหรือหลอดเดิม ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจไม่ทราบ เพราะไม่ได้อ่านปริมาณบรรจุที่ฉลากและไม่เห็นระดับบรรจุของผลิตภัณฑ์ภายในเนื่องจากบรรจุภัณฑ์ทึบแสงนั่นเอง ตารางข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างสินค้าที่มีการปรับปริมาณผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์เดิม สำรวจโดยผู้เขียนในร้านค้าปลีกใน กทม. ตัวอย่างสินค้าดังกล่าวแสดงในภาพที่ 6__

ประเภทสินค้าขนาดบรรจุของบรรจุภัณฑ์เดิมปริมาณบรรจุของผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์เดิมแชมพูสระผม 750 มล. (ขวดปั๊ม)400 มล. (ขวด) 200 มล. (ขวด)    650, 550 มล. 350, 340, 335 มล. 180, 170 มล.ครีมนวดผม200 มล. (หลอด)180, 170, 160 มล.ครีมอาบน้ำ750 มล. (ขวดปั๊ม) 250 มล. (ขวด/ถุงตั้ง)550 มล. 220, 200 มล.ครีมล้างมือ250 มล. (ขวด/ถุงตั้ง)220, 200 มล. แป้งฝุ่นโรยตัว500 ก. (ขวด) 200 ก. (ขวด)450 ก. 150 ก.

ในการเลือกซื้อสินค้า ผู้ซื้อควรเปรียบเทียบราคาและปริมาณบรรจุระหว่างตราสินค้าต่างๆ จะดูเฉพาะขนาดของบรรจุภัณฑ์คงไม่ได้ เพราะแต่ละตราสินค้ามีการบรรจุผลิตภัณฑ์ในปริมาณไม่เท่ากัน บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่กว่าหรือสูงกว่าไม่ได้หมายความว่าจะมีผลิตภัณฑ์มากกว่า การลดขนาดของขวดให้เล็กลงหรือเตี้ยลงเพื่อให้เหมาะกับปริมาตรของผลิตภัณฑ์ที่ลดลงนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนักเมื่อเทียบกับการลดขนาดของถุงพลาสติกหรือลดขนาดกล่องกระดาษ เนื่องจากต้องมีการลงทุนทำโมลด์ขวดใหม่และดัดแปลงเครื่องบรรจุ นอกจากนี้ยังอาจมีผลต่อส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลงหากไม่มีกลยุทธ์ในการสื่อสารกับผู้บริโภคดีพออย่างไรก็ตามผู้เขียนอยากขอร้องให้ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ๆ ทั้งหลายหันมาพิจารณาการลดขนาดบรรจุภัณฑ์ลงดูบ้าง เพราะช่องว่างที่ใหญ่เกินความจำเป็นต่อการบรรจุด้วยเครื่องอัตโนมัติ คือ ความสูญเปล่าของวัสดุบรรจุภัณฑ์ ถ้านำวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ลดลงได้ของทุกตราสินค้ามารวมกันก็จะเป็นตัวเลขมหาศาลของพลาสติกที่ลดลงได้ต่อปีเป็นที่น่ายินดีว่ามีสินค้าที่ผลิตในประเทศหลายชนิดที่มีการลดขนาดบรรจุภัณฑ์แล้วโดยไม่มีผลกระทบต่อการยอมรับของผู้บริโภคและต่อยอดการขาย ตัวอย่างสินค้าเหล่านี้ได้แสดงในภาพที่ 7 หากผู้ผลิตสินค้าไม่มั่นใจว่าการลดขนาดบรรจุภัณฑ์จะมีผลต่อการขายหรือไม่ ขอแนะนำให้ทำ Consumer Test เพื่อตรวจสอบว่าผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมีความเห็นอย่างไรกับขนาดของบรรจุภัณฑ์ที่เล็กลง

ภาพที่ 7 ตัวอย่างสินค้าที่มีการลดขนาดบรรจุภัณฑ์โดยไม่มีผลกระทบต่อการยอมรับของผู้บริโภค ผู้เขียนขอปิดท้ายว่า เราทุกคนมีส่วนช่วยกันลดขยะบรรจุภัณฑ์ โดยการแยกขยะที่รีไซเคิลได้ก่อนทิ้ง ซึ่งรัฐและสื่อมวลชนทุกสาขาต้องมีคำแนะนำและการรณรงค์วิธีการแยกขยะอย่างถูกต้องที่ปฏิบัติได้จริง รวมทั้งรัฐมีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนผู้ผลิตสินค้าอุปโภคหรือบริโภคก็ต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพซึ่งทำให้สินค้าเสียหาย (Under-packaging) และบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินไปหรือดีเกินความจำเป็น (Over-packaging)

ท่านทราบหรือไม่ว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีขยะวันละ 15 ล้านต้น เฉพาะใน กทม. แต่ละวันมีขยะถึง 9,000 ตัน เป็นขยะบรรจุภัณฑ์ประมาณ 30% ขยะอาหารประมาณ 60% กทม. สามารถกำจัดขยะได้เพียง 2,500 ตันต่อวัน ทำให้ มีขยะที่ทิ้งไว้เกลื่อนกลาดไม่ได้กำจัดถึง 8,500 ตันต่อวัน

Article มยุรี ภาคลำเจียก วารสารบรรจุภัณฑ์ไทย พฤศจิกายน-ธันวาคม 2555

1,094 views0 comments

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page