top of page

บรรจุภัณฑ์อนุรักษ์ทรัพยากรเอื้ออาทรมวลมนุษย์



เมื่อกล่าวถึงเรื่องบรรจุภัณฑ์ ทุกคนย่อมรู้จักดีในความเป็นผู้นำในเรื่องนี้ของญี่ปุ่น  ไม่ว่าจะในความโดดเด่น ของรูปแบบ และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และนอกจากนั้น คนจำนวนไม่น้อยยังมีความประทับใจในความประณีตงดงามของบรรจุภัณฑ์ของญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ยิ่งถ้าเป็น ของฝากหรือของขวัญยิ่งน่า ชื่นชมว่าบรรจุภัณฑ์นั้นได้ผ่านการพิถีพิถันคิดค้นออกแบบและผลิตมาอย่างเลอเลิศจินตนาการของผู้คนโดยทั่วไปที่มีต่อบรรจุภัณฑ์ของญี่ปุ่นจึงมักยึดติดอยู่ที่ความสวยงามเป็นสำคัญ และการได้มาซึ่งความงามที่เกิดจากการทุ่มเทมากมายกับการใช้วัสดุ เพื่อการห่อหุ้ม คุ้มครองอำนวยความสะดวก และสื่อสาร ตลอดจนกระทั่งการแสดงถึงมิตรไมตรีนี้เอง มักเป็นที่กล่าววิจารณ์กันว่าบรรจุภัณฑ์ของญี่ปุ่นนั้นออกจะเกินเลยและสิ้นเปลือง ในสายตาของชาวโลกทั่วไปที่อาจมิได้คุ้นเคยและเข้า ใจถึงความคิดอ่าน ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันมีมาแต่โบราณของญี่ปุ่น จึงมิได้รับรู้ว่าอุปนิสัยใจคอ ความเอื้ออาทร ความประณีตบรรจง และความละเอียด

ลออของชาวญี่ปุ่นนั้นเอง เป็นที่มาแห่งคุณลักษณะเช่นนั้น ซึ่งได้ถ่ายทอดสะท้อนให้เห็นในบรรจุภัณฑ์อันงดงาม ในประเพณีการมอบของกำนัลซึ่งกันและกัน ทั้งในโอกาสเยี่ยมเยือน และวาระพิเศษต่างๆ ที่ชาวญี่ปุ่นได้สืบทอดยึดถือปฏิบัติกันมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

หากมองการออกแบบบรรจุภัณฑ์แต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกของผลงานที่ผลิตสำเร็จ ผู้คนทั่วไปอาจเข้าใจกันเพียงว่า นักออกแบบของญี่ปุ่นมุ่งเน้นกันแต่ความสวยงาม เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีความปรารถนาจะอาศัยบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นสื่อ อาทิ ในการแสดงไมตรีจิต และสนองตอบความประสงค์ของนักการตลาดที่ขับเคี่ยวแข่งขันเพื่อความสำเร็จและชัยชนะอีกทั้งความอยู่รอดในธุรกิจ แท้ที่จริงนั้นนักออกแบบได้พิจารณาถึงเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง และสองเรื่องหลักที่เป็นประเด็นเด่นของการออกแบบเพื่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของโลกและสังคมในอนาคตได้กลายเป็นข้อคิด และเป็นจุดขายสำคัญของบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน สองเรื่องที่จะได้นำมากล่าวถึงในบทความนี้ คือ เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร พลังงานและสิ่งแวดล้อมเรื่องหนึ่ง และการใส่ใจให้บริการต่อผู้บริโภคทุกผู้ทุกนามอย่างทั่วถึงและเสมอภาคอีกเรื่องหนึ่ง ญี่ปุ่นเรียกบรรจุภัณฑ์ที่มีลักษณะอย่างแรกว่า ECO ECOPACKและอย่างหลังว่า UD PACKAGING คำว่า UD นั้น ย่อสั้นๆ มาจากคำ ว่า UNIVERSAL DESIGN นั่นเอง

บรรจุภัณฑ์ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้ เป็นบรรจุภัณฑ์หน้าตาพื้นๆ ที่ได้คัดเลือกมาเล่าถึงเป็นตัวอย่าง ด้วยเหตุผลอื่นที่มิใช่ความสวยงามแต่เป็นความน่าประทับใจในเรื่องราวความละเอียดรอบคอบของผู้วางแผนออกแบบ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งความมีน้ำใจเอื้ออาทรที่แฝงอยู่ในความคิดอ่านเมื่อออกแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานบรรจุภัณฑ์นี้ ภายในครัวเรือนของแม่บ้านซึ่งเป็นผู้บริโภคเป้าหมายอันสำคัญ

บรรจุภัณฑ์ตัวอย่างในเรื่องนี้เป็นกล่องบรรจุนํ้ามันพืช (รูปที่ 1)มีอักษรจัดวางเด่นไว้ที่หัวกล่อง อ่านออกเสียงได้ว่า ECOPAXและแปลเป็นไทยได้ความว่า กล่องใบนี้เป็นกล่อง “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” บ่งบอกเจตนาชัดเจนว่าจะอาศัยประเด็นนี้เป็น จุดขายสำคัญ เมื่อกวาดสายตาลงมาถึงอีกตำแหน่งบนหน้ากล่องนั่นเอง ก็จะเห็นอีกข้อความหนึ่งที่บ่งชี้ว่า “หยิบยกได้กระชับมือ

สรุปรวมได้ใจความว่า กล่องใบนี้มีดีจะอวด ความดีที่หยิบยกมาโอ้อวดกันได้นั้นคือ ความเป็น “บรรจุภัณฑ์อนุรักษ์รัพยากร

และเอื้ออาทรต่อมวลมนุษย์

บรรจุภัณฑ์น้ำมันพืชมีลักษณะพิเศษ จัดเป็นกล่องประเภท BAG-IN-BOX ซึ่งประกอบขึ้นด้วยสองส่วนสำคัญที่ผลิตจากวัสดุต่างชนิด ได้แก่ กล่องกระดาษแข็งและถุงพลาสติก ส่วนที่เป็นกล่องกระดาษแข็งภายนอกนั้นผลิตมาจากกระดาษรีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์ ช่วยทำหน้าที่เป็นโครงสร้างสำคัญของบรรจุภัณฑ์ เพื่อความสะดวกในการหยิบยก เคลื่อนย้ายและจัดวาง รูปทรงสี่เหลี่ยมของกล่องช่วยประหยัดเนื้อที่ระหว่างการลำเลียง ขนส่งคงคลัง และเก็บพักรักษา ส่งผลพลอยได้ให้การใช้ทรัพยากรและพลังงานในระบบการขนส่งและกระจายสินค้าเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบรรจุภัณฑ์รูปขวดทรงกระบอกกลมที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างขวดต่อขวดอย่างไร้ประโยชน์ เมื่อจัดวางเรียงรวบรวมเป็นจำนวนมากในกล่องขนส่งและในพาหนะระหว่างกระบวนการขนย้าย ตลอดจนเมื่ออยู่ในคลังสินค้า นอกจากนั้นกล่องทรงเหลี่ยมนี้ยังสามารถจัดวางเก็บและใช้เนื้อที่ในครัวระหว่างการใช้งานได้อย่างสะดวกและมีระเบียบอีกด้วย

กระดาษแข็งซึ่งเป็นวัสดุส่วนภายนอกของกล่องมีลักษณะทึบแสง สามารถช่วยทำหน้าที่กักกั้นแสงได้อย่างมิดชิด เพื่อมิให้ส่องทะลุเข้าไปเป็นภัยต่อคุณภาพของน้ำมันพืช ส่วนถุงพลาสติกที่แขวนอยู่ภายในของกล่องนั้นมีบทบาทสำคัญในการรองรับปริมาณบรรจุหนึ่งกิโลกรัม อีกทั้งคุ้มครองคุณสมบัติของน้ำมันพืชมิให้เสื่อมสภาพไปก่อนเวลาอันสมควร การเลือกใช้วัสดุกล่องและถุงร่วมกันทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ อำนวยให้สามารถหลีกเลี่ยงและลดการเบิกใช้ทรัพยากรปิโตรเคมีอันมีค่าของโลกได้อย่างมากมาย หากเปรียบเทียบกับการนำวัสดุมาใช้อย่างสิ้นเปลืองมากกว่า เมื่อผลิตขวดพลาสติกเพื่อใช้บรรจุน้ำมันพืช ตามวิธีที่เคยนิยมทำกันมาแต่ดั้งเดิม กล่าวกันว่าในกรณีตัวอย่างซึ่งได้ใช้ถุงแทนขวดนี้ทำให้สามารถลดการใช้วัสดุพลาสติกได้ถึงร้อยละ 65 เลยทีเดียว

กล่องน้ำมันพืชมีน้ำหนักบรรจุถึงหนึ่งกิโลกรัม จึงหนักมิใช่น้อย เมื่อแม่บ้านต้องหยิบยกด้วยมือเดียวระหว่างปรุงอาหาร มือซึ่งจับถืออยู่นั้นก็เป็นมือของคนทำกิจกรรมในครัว จึงอาจเปื้อนเลอะหรือมีมันเยิ้ม จนเป็นเหตุให้กล่องนั้นอาจลื่นหลุดพลัดจากมือไปได้ง่ายๆ เมื่อจับถือ ดังนั้น ที่ข้างกล่องเราจึงได้เห็นร่องรอยความพยายามของนักออกแบบที่ช่วยคิดป้องกันปัญหาดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการใช้งานของกล่องน้ำมันพืชนี้ อาทิ ในขณะหยิบ ยก เท ริน ฯลฯ ทั้งนี้ ด้วยการจัดการให้มีการทับรอยและเจาะปรุบนกระดาษส่วนผนังด้านข้างทั้งซ้ายขวาของกล่อง (รูปที่ 2) เพื่ออำนวยให้ใช้นิ้วผลักดันให้กระดาษแข็งของกล่องนั้นขาดออกไปได้บางส่วนตามรอยเส้นปรุ และนอกจากนั้นยังหักพับได้ตามเส้นทับรอย เกิดเป็นช่องเปิดว่างที่เอื้อให้สอดนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ลงได้คนละฝั่งผนังจึงทำให้สามารถร่วมกันช่วยจับยึดสองฝั่งผนังตรงข้ามกันของกล่องนี้ไว้ได้อย่างกระชับมือยิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังน่าสังเกตอีกว่านักออกแบบได้ทับรอยกระดาษไว้เพิ่มเติม ให้มีลักษณะเป็นริ้วลอนอยู่ที่บริเวณหนึ่งของผนังกล่อง ซึ่งอยู่ใต้ตำแหน่งจับของสองนิ้วที่กล่าวมาแล้วข้างต้น บริเวณนี้เป็นส่วนที่คาดการณ์ได้ว่าอุ้งมือและนิ้วอื่นๆ จะแตะต้องอยู่กับผิวของกล่อง ริ้วลอนที่ทำขึ้นเป็นพิเศษนี้เอื้อให้เกิดผิวสัมผัสอันไม่ราบเรียบบนผนังกล่อง จึงสามารถช่วยให้ทำหน้าที่ป้องกันการลื่นและพลัดหลุดของกล่องออกจากมือได้ดียิ่งขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ (รูปที่ 2)

ผู้บริโภคเป้าหมายของน้ำมันพืชซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นหญิงนั้น ย่อมมีลักษณะหลากหลายด้วยรูปพรรณสัณฐานที่แตก

ต่างกันไป มีทั้งอ้วนบ้างและผอมบ้าง ขนาดของมือก็ย่อมมีใหญ่บ้างและเล็กบ้างผิดแผกไปจากกัน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็น ไปได้

ว่าความถนัดมือในการหยิบยกหรือจับถือกล่องน้ำมันพืชนี้ จะไม่เท่าเทียมกัน มือใหญ่หยิบยกกล่องได้เหมาะมือพอดี

ในขณะที่มือเล็กจับถือได้แต่เพียงส่วนหนึ่ง ยังไม่ทันเรียกได้เต็มปากว่า กระชับมือ เป็นต้นดังนั้นเพื่อความสะดวกในการ

ใช้งานจับถือได้มั่นคงอย่างเสมอภาคทั่วถึงกัน นักออกแบบจึงได้ทำเส้นทับรอยรูปโค้งไว้ให้ที่สองผนังฝั่งตรงข้ามกันของ

กล่อง (รูปที่ 3) เพื่อที่ว่า จะสามารถปรับลดขนาดความกว้างของกล่องให้เหมาะสมได้กับขนาดมือของแม่บ้านแต่ละคนที่

แตกต่างกัน หากต้องการให้มือเล็กหยิบยกกล่องได้อย่างกระชับมือ ก็จัดการได้ง่ายดาย เพราะเพียงบีบช่วงกลางของกล่องนั้นให้เอวคอดลงได้บ้าง ตามแนวโค้งของเส้นทับรอยที่ทำนำร่องไว้ให้ เล่ากันว่า ทีมงานวิจัยได้รวบรวมสถิติจากการสำรวจขนาดมือของหญิงชาวญี่ปุ่นที่คาดว่าอยู่ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไว้ได้ถึง 900 คนเลยทีเดียว เพื่อเป็นข้อมูลให้นักออกแบบได้ใช้ประโยชน์ในการนี้

น้ำมันพืชมีประโยชน์ใช้งานสำหรับประกอบอาหารคุณภาพที่ดีและความสดใหม่จึงเป็นเรื่องที่น่าให้ความสนใจ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมักอาศัยการสังเกตดูข้อมูลเรื่องวันผลิตและวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ที่มีแจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ก่อนการซื้อเป็นประจำ ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจในคุณภาพ อีกทั้งคุณค่าทางโภชนาการ ตลอดจนรสชาติที่น่ารับประทานของอาหารที่พึงมี แต่สำหรับผู้บริโภคที่มีความห่วงใยใส่ใจในเรื่องคุณภาพยิ่งกว่า นั้น การจดจำหรือบันทึกไว้ได้ว่าเปิดใช้กล่องนี้ครั้งแรกเมื่อใดย่อมมีความหมายเป็นพิเศษ เราจะสังเกตเห็นว่านักออกแบบมีความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และได้จัดการให้มีที่ทางไว้สำหรับการบันทึกวันเดือนปีของการเริ่มเปิดใช้น้ำมันพืชไว้ได้เองที่ผนังด้านข้างของกล่อง (รูปที่ 2) การสื่อความให้ทราบความหมายและประโยชน์ของเนื้อที่พิเศษนี้ก็จัดการได้ดี เพราะได้ทำรูปดินสอเป็นสัญลักษณ์ชี้แนะธุระใช้งานไว้ให้เข้าใจได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีคำเตือนแจ้งไว้อีกด้วยว่าควรรีบบริโภคน้ำมันพืชนี้ให้หมดภายใน 1-2 เดือน นับจากวันเริ่มเปิดใช้ นอกจากนั้น เมื่อ

วันเวลาผ่านไปจนน้ำมันพืชที่ใช้อยู่เป็นประจำนั้นใกล้จะหมดผู้ใช้ย่อมปรารถนาที่จะรู้ตัวล่วงหน้าว่าควรจะต้องเตรียมตัว

ไปซื้อหามาใช้ใหม่อีกเมื่อใด แต่เมื่อผนังกล่องกระดาษนั้นทึบแสงจึงไม่สามารถมองทะลุผ่านไปเห็นและตรวจสอบระดับของน้ำมันพืชที่คงเหลืออยู่ข้างในถุงซึ่งบรรจุอยู่ภายในกล่องได้ นักออกแบบมีความเข้าใจละเอียดลออถึงความต้องการของผู้ใช้ และมีความรอบคอบที่จะสนองความต้องการดังกล่าวได้สำเร็จ จึงได้ออกแบบให้มีช่องที่จะเปิดปิดได้ไว้ที่ผนังกล่องด้านหลังตรงใกล้กับบริเวณก้นกล่อง (รูปที่3) เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคที่ประสงค์จะเปิดดูเพื่อตรวจสอบระดับน้ำมันพืชที่คงเหลือ การจัดการออกแบบและผลิตก็ทำได้ง่ายดาย เพียงเตรียมเส้นตัดปรุไว้ให้เท่านั้น จะใช้ธุระนี้เมื่อใดก็ค่อยฉีกกระดาษเพียงบางส่วนตามแนวเส้นดังกล่าว เพื่อให้เกิดช่องว่างเพียงพอที่จะแง้มเปิดให้เห็นน้ำมันพืชที่ก้นกล่อง เมื่อตรวจสอบแล้วก็ยังคงปิดได้ดังเดิม

ที่บริเวณด้านบนของกล่อง เราจะเห็นตำแหน่งของฝาซึ่งผลิตด้วยพลาสติก ตั้งอยู่บนพื้นลาดเอียงของหัวกล่อง เพื่อ

ให้ผู้บริโภคเปิดเทใช้งานน้ำมันพืชได้ในมุมสะดวก ฝานี้จะเชื่อมติดอยู่กับถุงที่บรรจุอยู่ภายใน เมื่อเปิดฝานี้ออกจะพบชิ้นส่วนภายในที่ให้การคุ้มครองผลิตภัณฑ์ไว้อีกชั้นหนึ่งอย่างมิดชิด และมีวงแหวนทำไว้ให้ฉีกดึงออกได้ง่ายดายเพื่อเปิดและเทน้ำมันพืชออกจากกล่องมาใช้งานได้สะดวกบริเวณปากได้รับการออกแบบไว้เป็นพิเศษ เพื่อการไหลรินที่ราบรื่น ไม่เอ่อล้นหรือหกเลอะเทอะออกมาถึงนอกกล่องจึงไม่เกิดปัญหาน่ากังวลของผู้ใช้งาน เพราะได้มีการคิดมาตรการป้องกันไว้ให้แล้วอย่างรอบคอบ หากเสร็จธุระใช้งานเมื่อใดก็สามารถปิดกลับได้มิดชิดด้วยฝาด้านนอกที่มี

เมื่อการใช้งานน้ำมันพืชสิ้นสุด ผู้บริโภคสามารถจัดการกับขยะในเบื้องต้นได้อย่างง่ายดาย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ

รีไซเคิลต่อไปโดยสะดวก ซากของกล่องกระดาษนั้นพับได้แบนราบ ไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ทั้งเมื่อทิ้งลงในถังและเมื่ออยู่ในรถขยะระหว่างการขนย้าย  การกินเนื้อที่ในระหว่างเคลื่อนย้ายขยะจากต้นทางไปสู่ปลายทางอันเป็นแหล่งจัดการขยะ เป็นปัญหาสำคัญของการทำลายทรัพยากร โดยเฉพาะพลังงานเชื้อเพลิงที่ต้องสูญสิ้นไปในระหว่างการขนส่ง ขยะขนาดใหญ่ย่อมบรรทุกและเคลื่อนย้ายได้เพียงครั้งละจำนวนน้อยต่อหนึ่งพาหนะต่อหนึ่งรอบของการขนส่ง การพับแบนราบและลดย่อขนาดของขยะให้เล็กที่สุดเพื่อสามารถอัดแน่น ในระหว่างการเดินทาง จะสามารถช่วยให้การใช้พลังงานเชื้อเพลิงในระบบการขนส่งเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการนี้นักออกแบบจึงได้วาดภาพแนะนำการพับกล่องกระดาษให้แบนราบไว้อย่างชัดเจน (รูปที่ 3) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง และร่วมเป็นกำลังสำคัญในกระบวนการอนุรักษ์ทรัพยากร พลังงานและสิ่งแวดล้อมของสังคมและโลก

การแยกวัสดุต่างชนิดของขยะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการนำขยะเข้าสู่กระบวนการจัดการ อาทิ การรีไซเคิล การเผาทำลายหรือการฝังกลบ บรรจุภัณฑ์นี้ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภท BAG-IN-BOX ประกอบด้วยวัสดุต่างชนิด อันได้แก่ กระดาษและพลาสติก ที่มีบทบาทหน้าที่ใช้งานแตกต่างกันในที่ต่างๆ อาทิ กล่อง ถุง และฝา ดังนั้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อมูลเรื่องวัสดุที่ควรทราบ และเข้าใจในเรื่องแนวทางที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ตามความจำเป็นในการจัดการกับขยะเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงได้มีการแจ้งให้ทราบทั้งชนิดของวัสดุที่ใช้ และข้อแนะนำในการแยกวัสดุออกจากกันได้อย่างถูกต้อง ด้วยรูปภาพและคำแนะนำที่หลังกล่อง ว่าด้วยเรื่องการจัดการลดขนาดของขยะและการแยกขยะ ด้วยวิธีที่ผู้บริโภคทุกครัวเรือนสามารถรับรู้และเข้าใจได้อย่างง่ายดายและชัดเจน (รูปที่ 3) เราจะเห็นได้ว่ามีการระบุข้อมูลโดยละเอียดว่า กล่องที่ผลิตมาจากกระดาษรีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์นี้ควรพับแบนราบและจัดแยกออกไปอยู่ในกองกระดาษ ในที่นี้ได้แนะนำให้จัดรวมกับขยะประเภทกระดาษจากนิตยสาร และมิใช่รวมกับกล่องบรรจุนมโดยทั่วไป ซึ่งผลิตจากวัสดุแตกต่างซ้อนกันอยู่หลายชนิด ส่วนประกอบ

อื่นๆ ของบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกนั้นก็ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นวัสดุชนิดใด อาทิ ฝาผลิตด้วยพลาสติกชนิด PE ฟิลม์พลาสติกที่หุ้มห่ออยู่ภายนอกกล่องนั้นเป็น PP และถุงชั้นในประกอบด้วยวัสดุพลาสติกต่างชนิด ได้แก่ PE, PA และ PET ซึ่งผนึกซ้อนชั้นกันอยู่เพื่อร่วมกันทำหน้าที่คุ้มครองได้อย่างครบถ้วน วัสดุหลากชนิดที่ผนึกกันอยู่ เช่นนี้ย่อมยากที่จะแยกแยะออกจากกัน จึงได้มีการชี้แนะ เพื่อการจัดการกับขยะได้อย่างเหมาะสม ในกรณีนี้ได้แจ้งให้ทราบชนิดของพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบสูงสุดในนั้นว่าเป็นพลาสติกชนิดใด ทั้งนี้ สังเกตได้จากเครื่องหมายบ่งชี้โดยการขีดเส้นใต้ไว้เฉพาะที่ชื่อของพลาสติกชนิด PE นั่นเอง (รูปที่ 3)

เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้มีการเลือกใช้วาร์นิชฐานน้ำ และนำหมึกที่ทำจากถั่วเหลืองมาใช้เป็นหมึกพิมพ์

จึงเอื้อให้กระบวนการรีไซเคิลของกระดาษเป็นไปได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น การหลีกเลี่ยงที่จะใช้หมึกฐานน้ำมันปิโตรเคมี เป็นการช่วยลดปริมาณสาร VOCs ที่ปล่อยสู่อากาศ จึงสามารถช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งอันตรายต่อสุขภาพของช่างพิมพ์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

จากเรื่องราวที่เล่า มานั้น จะเห็นได้ว่าบรรจุภัณฑ์น้ำมันพืชดังตัวอย่างนี้ ได้มีการออกแบบมาให้มีคุณสมบัติเด่น ทั้งในประเด็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความเอื้ออารีต่อมวลชนผู้บริโภคเป็นอย่างดียิ่ง ทั้งสองประเด็นนี้ในปัจจุบันต่างเป็น

เรื่องที่มีความสำคัญยิ่งยวดในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นเรื่องเด่นที่องค์กรและผู้ประกอบการทั้งหลายในประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมนำเสนอเพื่อแสดงความรับผิดชอบของตนต่อสังคม

บรรจุภัณฑ์น้ำมันพืชในเรื่องเป็นผลงานดีเด่นถึงขั้นได้รับรางวัลระดับ JAPAN STAR ในการประกวดบรรจุภัณฑ์ของ

ญี่ปุ่นที่ JAPAN PACKAGING INSTITUTE เป็นผู้จัด ทีมงานผู้ร่วมพัฒนา คือ บริษัท J. OIL MILLS เจ้าของผลิตภัณฑ์และบริษัท TOPPAN PRINTING หนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาและการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศญี่ปุ่น

ที่มาของเรื่องและภาพ :

JAPAN PACKAGING INSTITUTE (www.jpi.or.jp)

Article

รศ.อรสา จิรภิญโญ

862 views0 comments
bottom of page