top of page

ความมั่นคงทางอาหาร กับการวางแผนบริหารความเชื่อมั่น


ปัญหาสินค้าอาหารหลายรายการขาดแคลนในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและลุกลามไปถึงบางแห่งในต่างจังหวัด ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการประกาศอนุญาตให้นำเข้าน้ำดื่ม

บรรจุขวด ไข่ไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง อาหารกระป๋อง ผลิตภัณฑ์นม และสินค้าพื้นฐานอีกหลายรายการ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนและผลทางจิตวิทยาให้กับประชาชน ตามคำร้องขอของโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดง

ความคิดเห็นมากมาย เป็นบทเรียนที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีระบบบริหารจัดการด้านความมั่นคงทางอาหารที่ยังไม่เรียบร้อยเพียงพอ

ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกตินี้ แสดงให้เห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ทั้งหน่วยงานรัฐ สมาคมผู้ผลิต สถานประกอบการ เกษตรกรผู้ค้าปลีก ผู้กระจายสินค้า และนักวิชาการ ควรเร่งร่วมมือกันวิเคราะห์และเตรียมแผนบริหารความเสี่ยงระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศเพื่อพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะหากเกิดสถานการณ์ในทำนองนี้ขึ้นมาอีกเราจะได้นำแผนบริหารความเสี่ยงนั้นมาปฏิบัติอย่างเป็นระบบ จะช่วยสร้างขวัญและความเชื่อมั่นต่อประชาชน ทำให้ไม่เกิดความตื่นตระหนก กักตุนอาหาร หรือฉวยโอกาส ยามวิกฤต ซ้ำเติมให้เกิดปัญหารุนแรงขึ้นอีก เพื่อให้ไทยสมกับเป็นครัวของโลกอย่างภาคภูมิใจได้ตามความเป็นจริง

ความมั่นคงทางอาหารคืออะไร

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ให้คำนิยามของคำว่าความมั่นคงทางอาหาร ไว้ในงาน World Food Summit เมื่อ พ.ศ. 2539 ว่า

ความมั่นคงทางอาหารจะเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงอาหาร หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจที่จะเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา โดยอาหารดังกล่าวมีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัย และมีปริมาณที่เพียงพอ ในการที่จะตอบสนองต่อความต้องการด้านโภชนาการและความนิยมในการบริโภค เพื่อการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพแข็งแรงและกระปรี้กระเปร่า

ซึ่งความมั่นคงด้านอาหาร ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ

1. มีอาหารเพียงพอ-Food Availability คือ การมีปริมาณอาหารที่มีคุณภาพที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ

2. การเข้าถึงอาหาร-Food Accessibility หมายถึง การที่บุคคลสามารถเข้าถึงทรัพยากรและได้มีสิทธิในการที่จะได้อาหารอย่างเหมาะสมตามความจำเป็นด้านโภชนาการ

3. การใช้ประโยชน์อาหาร-Food Utilization คือ บทบาทของอาหารที่มีต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยการได้มีปริมาณอาหารที่เพียงพอ มีน้ำสะอาดในการบริโภค-อุปโภค มีสุขอนามัย และการดูแลสุขภาพที่ดี

4. อาหารมีสม่ำเสมอ-Food Stability คือ ประชาชนโดยรวมครอบครัว และปัจเจกบุคคล สามารถเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอตลอดเวลา

การที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรเกษตรอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารกระจายอยู่ทั่วประเทศรวมแล้วมากกว่า 8,000 โรงงาน มีโรงงานผลิตน้ำดื่มประมาณ 7,000 โรงงาน ทำให้คนไทยมีความเชื่อมั่นใน

ความเพียงพอ ความสม่ำเสมอ และการเข้าถึงอาหารได้โดยง่ายจึงขาดการวางระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพเมื่อเผชิญกับ

ความไม่แน่นอนของการมีอาหารจากวิกฤตการณ์เฉพาะหน้ามหาอุทกภัยครั้งนี้ส่งสัญญาณเตือนว่าเราต้องเริ่มคิดวางระบบ

อย่างจริงจัง ตั้งแต่การให้ความรู้ประชาชนเชิงลึกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน จนถึงระดับประเทศ

ปลูกฝังกระบวนการคิดและรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ตัวอย่างประเทศที่รับมือกับวิกฤตได้อย่างน่าชื่นชมมีให้เห็นเมื่อเร็วๆ นี้ คือ ญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราพึ่งพิงอาหารภายในประเทศ (Food Self-Sufficiency Rate1) เพียงประมาณร้อยละ 40 แต่เหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้พิสูจน์แล้วว่าระบบรองรับความเสี่ยงด้านอาหารของญี่ปุ่นเข้มแข็งเพียงใด

น้ำและไข่ เรื่องเล็กๆ ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ ในมหานคร

กรณี ไข่ไก่ ช่องทางกระจายไข่ไก่จากฟาร์มสู่ผู้บริโภคโดยปกติร้อยละ 80 ผ่านทางตลาดสด ตลาดนัด ร้านขายของชำ รถเร่ ขณะที่ร้อยละ 20 ผ่านทางโมเดิร์นเทรด ร้านอาหาร โรงแรม และอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะมีฟาร์มไข่ไก่หลายรายอยู่ในจังหวัดที่ประสบอุทกภัย แต่ก็มีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตรวมของประเทศ จึงเชื่อว่าหากมีการประสานงานแหล่งผลิตอื่นทดแทนและปรับช่องทางกระจายสินค้าให้เข้าสู่โมเดิร์นเทรด เพื่อตอบสนองคนเมืองมากขึ้น ก็จะช่วยลดความตื่นตระหนกลงได้บ้างหากพิจารณาจากแหล่งผลิตไข่ไก่ แหล่งที่สำคัญอยู่ที่ภาคกลางคิดเป็นร้อยละ 56 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 19 ภาคเหนือร้อยละ 15 และภาคใต้ร้อยละ 11 ตามลำดับ หากพิจารณาตามรายจังหวัดพบว่า จังหวัดที่มีการผลิตไข่ไก่มากที่สุด 5 อันดับแรกของประเทศได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรามีปริมาณการผลิตเป็นอันดับ 1 ของประเทศ (ร้อยละ 11) รองลงมาอีก 4 อันดับ ได้แก่ นครนายก(ร้อยละ 8) พระนครศรีอยุธยา (ร้อยละ 8) ชลบุรี (ร้อยละ 7) และอุบลราชธานี (ร้อยละ 6) ตามลำดับ (ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)

พิจารณาจากผลผลิตไข่ไก่ โดยเฉลี่ยประเทศไทยจะสามารถผลิตได้ประมาณ 30 ล้านฟองต่อวัน ซึ่งปกติสัดส่วนการบริโภคไข่ไก่ของชาวกรุงเทพฯ อยู่ที่ 1.4 ล้านฟองต่อวัน เปรียบเทียบความต้องการบริโภคของคนทั้งประเทศ 28 ล้านฟองต่อวัน หากคนทั้งประเทศหยุดกินไข่ไก่ 1 วัน คนกรุงเทพฯ จะมีไข่ไก่และสามารถบริโภคไข่ไก่ได้ถึง 20 วันในแบบปกติเลยทีเดียว คิดเปรียบเทียบความต้องการแบบตัวเลขง่ายๆ ไม่ได้วิเคราะห์คุณภาพและระยะการเก็บรักษาไข่ไก่นะครับ

ส่วนกรณีของน้ำดื่มบรรจุขวดนั้น ผู้ผลิตน้ำดื่มชั้นนำตลาดประมาณ 8 แบรนด์ (สิงห์ คริสตัลเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ ช้าง สยาม น้ำทิพย์ เนปจูน) และบริษัทผู้รับจ้างผลิตให้กับเฮาส์แบรนด์อีกประมาณ 14 บริษัท ถือเป็นน้ำดื่มส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ โดยที่ 8 แบรนด์หลักนี้มีส่วนแบ่งตลาดทั่วประเทศรวมกันมากกว่าร้อยละ 60 เชิงปริมาตรและมีโรงงานกระจายตั้งอยู่มากกว่า 1 พื้นที่ ช่องทางกระจายสินค้าน้ำดื่มร้อยละ 50 เข้าสู่ร้านอาหารโรงเรียนอีกร้อยละ 30 เข้าโมเดิร์นเทรดและคอนวีเนียนสโตร์ ที่เหลือร้อยละ 20 เข้าร้านค้าปลีกย่อย มีกำลังการผลิตทั้งประเทศสูงถึง 8.22 ล้านลิตรต่อวันเฉพาะชาวกรุงเทพฯ ในภาวะปกติจะมีปริมาณการบริโภค 1 ล้านลิตรต่อวัน

โดยปกติครัวเรือนโดยเฉพาะคนในเขตเมืองจะบริโภคน้ำดื่มจาก 3 แหล่ง คือ 1) เครื่องกรองน้ำ(ติดตั้งที่บ้าน+หยอดเหรียญ) 2) ถังพลาสติกบรรจุ 20 ลิตร (ปกติจะมีรถส่ง) และ 3) ขวดบรรจุหลายขนาดตั้งแต่ 0.5 ลิตรจนถึง 20 ลิตร (วางจำหน่ายในร้านขายปลีก)

ซึ่งเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมจึงมีความต้องการน้ำดื่มแบบที่ (3) ในปริมาณมาก เพราะสะดวกในการบริโภค ทำให้โรงงานที่กระจายสินค้าเข้ากรุงเทพฯและปริมณฑลผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการ แต่หากเราสามารถแก้ปัญหาด้านการกระจายสินค้าได้ก็จะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มบรรจุขวดในกรุงเทพฯเพราะเรายังมีโรงงานกระจายอยู่ในจังหวัดข้างเคียงที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตมาสนับสนุนได้

สาเหตุเริ่มต้นที่สำคัญคือ เป็นประเด็นด้านระบบการขนส่งที่ถูกตัดขาดหรือถูกทำให้ล่าช้า ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายอาหารจากแหล่งผลิตไม่สามารถส่งต่อไปยังผู้บริโภคได้ หรือมีความล่าช้า มากกว่าประเด็นด้านปริมาณผลผลิต ซึ่งเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากอุทกภัยที่หาดใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2553ส่งผลให้ระบบขนส่งไปยังจังหวัดสงขลาถูกตัดขาดผู้บริโภค ในสงขลาและจังหวัดที่อยู่ใต้ลงไปขาดแคลนอาหารอย่างหนักเนื่องจากสงขลาเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าด้วย 1 food self-sufficiency rate - the ratio of food consumed daily by the people that is supplied by domestic production. เช่น เกาหลีใต้ ร้อยละ25.3 ฝรั่งเศส ร้อยละ 320 เยอรมนี ร้อยละ 147.8 อังกฤษ ร้อยละ 125

การแก้ปัญหาแนวทางหนึ่งคือ การจัดการศูนย์กลางข้อมูลด้านอาหาร (Database) ระดับประเทศ โดยเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณผลิต (Supply) ปริมาณความต้องการ (Demand) และปริมาณสินค้าคงคลัง (Stock) ของประเทศ แหล่งที่ตั้งของโรงงาน/แหล่งผลิตอาหาร ข้อมูลการกระจายสินค้าจากแหล่งผลิตไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศและแผนสำรองกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีระบบการบริหารสต็อกหรือปริมาณสต็อกต่ำสุดที่ยอมรับได้ของแต่ละผลิตภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลระดับมหภาคสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร/ผู้กำกับนโยบาย เช่น

• การส่งสัญญาณหรือออกนโยบายจูงใจให้ผู้ผลิตสินค้าบางประเภท หรือบางพื้นที่ปรับเพิ่ม หรือลดปริมาณการผลิต

• การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารกรณีสถานการณ์ไม่ปกติระดับประเทศ โดยมีข้อมูลด้านปริมาณความต้องการและ

วิธีการกระจายสินค้าที่ชัดเจน (เช่น ในช่วงน้ำท่วมขณะนี้ปลากระป๋องและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการทั่วประเทศ เนื่องจากแหล่งผลิตกระจุกตัวบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วม จึงไม่เพียงพอกับความต้องการและก่อให้เกิดความวิตกกังวลในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆและหากแหล่งผลิตที่สำคัญในสมุทรสาคร สมุทรปราการนครปฐม ได้รับผลกระทบก็จะยิ่งทำให้เกิดภาวะของการไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ในผลิตภัณฑ์ทั้งสองประเภทนี้มากยิ่งขึ้น)

• การปรับเปลี่ยนวิธีการขนส่งจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภคกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ หรือมีหน่วยงานเข้าไปทำหน้าที่

เคลื่อนย้ายสินค้าแทนภาคเอกชน และกำหนดสถานที่จำหน่ายสินค้าอาหารเพื่อการบริโภค

• การเสนอข้อเท็จจริงที่ทันสถานการณ์ต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตเพื่อเตรียมการและลดความวิตกกังวลจากการขาดแคลนและการเข้าถึงอาหารจนนำไปสู่การเก็บกันอาหารไว้เฉพาะกลุ่มโดยไม่จำเป็นเหตุการณ์การวิตกกังวลในการเข้าไม่ถึงอาหารโดยเฉพาะไข่และน้ำ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เกิดขึ้นนั้นสาเหตุหลักมาจากปริมาณความต้องการที่มากกว่าปกติขณะที่ผู้จำหน่ายและโรงงานผู้ผลิตเตรียมปรับแผนตั้งรับสถานการณ์เช่นนี้ไม่ทันท่วงที

แผนสำรองสำหรับการขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า การบริหารความเสี่ยงด้านการกระจายสินค้าอาหาร

เพื่อความมั่นคงทางอาหารในสถานการณ์ไม่ปกติ จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันจัดทำโดยเร็ว เพื่อให้เรา

พร้อมรับกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ ที่สำคัญคือการยืนยันสัญลักษณ์ของการเป็นแหล่งข้าวแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ของโลกเล็กๆ ใบนี้ ต่อการมีวิธีการจัดการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในประเทศของตัวเอง

สินค้า

ปริมาณที่สามารถผลิต

ปริมาณความต้องการของตลาดทั้งประเทศ

สัดส่วนการบริโภคของ

กทม. ช่วงปกติ

การขอนำเข้าเนื่องใน สถานการณ์ไม่ปกติ

ณ เดือนพฤศจิกายน

น้ำดื่มบรรจุขวด

8.22 ล้านลิตรต่อวัน

7.8 ล้านลิตรต่อวัน

1 ล้านลิตรต่อวัน

มีผู้ขอนำเข้า 2 ราย

กระทรวงพาณิชย์นำเข้า 1 ล้านขวด

ไข่ไก่

29-30 ล้านฟองต่อวัน

28 ล้านฟองต่อวัน

1.4 ล้านฟองต่อวัน

มีผู้ขอนำเข้ารายเดียวที่ยื่นเรื่องขอนำเข้าไข่

ไก่จำนวน 6.6 แสนฟองภายในเดือน พ.ย.

แต่จากการตรวจสอบด่านศุลกากรพบว่า

ยังไม่มีการนำเข้า

ปลาซาร์ดีน/

แมคเคอเรลกระป๋อง

248 ล้านกระป๋องต่อวัน

62 ล้านกระป๋องต่อวัน

8 ล้านกระป๋องต่อวัน

มีผู้ขอนำเข้า 2 ราย

กระทรวงพาณิชย์นำเข้า 4 แสนกระป๋อง

ทูน่ากระป๋อง

6.5 ล้านกระป๋องต่อวัน

0.5 ล้านกระป๋องต่อวัน

0.1 ล้านกระป๋องต่อวัน

ที่มา : รวบรวมและประมาณการโดยส่วนวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร ณ วันที่ 9 พ.ย. 2554

Article

เพ็ชร ชินบุตร

สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

259 views0 comments
bottom of page